Monday, August 31, 2015

สรุป "บันทึกลับเซียนหุ้น" + ชีวิตส่วนตัวของลิเวอร์มอร์

บันทึกลับเซียนหุ้น "บันทึกลับเซียนหุ้น" ผมขอเรียกว่า "บันทึกการเทรดของลิเวอร์มอร์" เพราะในเล่มนี้จะไม่มีการพูดถึงเรื่องส่วนตัวเลย เน้นเรื่องการเทรดล้วนๆ
คนอ่านจะได้เรียนรู้วิธีคิด มุมมอง พัฒนาการของวิธีเทรด ที่มีทั้งกำไรและหมดตัว เราจะรู้ว่าอะไรทำให้เขาชนะและที่แพ้จนหมดตัวเพราะอะไร
ผมมองว่านี่เป็นกรณีศึกษาที่ดีมากสำหรับเทรดเดอร์ทุกคน เหมือนกับที่เขาว่า "ชีวิตคุณไม่ได้ยืนยาวมากพอที่จะทำผิดพลาดได้ทุกอย่างหรอก จงเรียนรู้จากคนอื่นให้มากที่สุด"
ด้วยความที่เป็นหนังสือที่เล่มหนามาก แต่อ่านสนุก เพราะมีเกร็ด คำคม ทริกการเทรดแทรกอยู่มากมาย ผมอ่านและจดบันทึกไปด้วยเพราะไม่อยากให้ตัวเองพลาดสิ่งดีๆที่มีในเล่มนี้ไปแม้แต่นิดเดียว บอกเลยว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมประทับใจมาก
ใครที่ไม่เคยอ่านก็ขอแนะนำเลยครับ เหมาะมากสำหรับคนที่เคยขาดทุนหนักๆ เล่มนี้จะช่วยปลุกกำลังใจของคุณให้ลุกขึ้นสู้ได้ครับ
ขอแชร์เนื้อหาแบบสรุปตามความเข้าใจของผม เรียงตามลำดับชีวิต ดังนี้

ชัยชนะครั้งแรก
- อายุ 14 เริ่มเล่นหุ้นชนะครั้งแรกในร้านบัคเก็ต โดยใช้องค์ความรู้จากการสังเกตุราคาและวอลุ่ม(หรือที่เรียกเทป) ที่มักจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ มาใช้ในการซื้อหรือช็อตหุ้นได้อย่างแม่นยำ(ชนะ 7 ใน 10 ครั้ง) จากการที่เขาสังเกตุได้ว่า ท้ายสุดไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง ตัวเลขมักจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาเสมอ ในแบบที่ซ้ำๆ จึงทำให้เกิดรูปแบบที่สามารถคาดเดาได้

เก่งเกินวัยจึงถูกกีดกัน
- อายุ 15 เก็บเงินได้ $1000 จากการเล่นหุ้น แต่เพราะความที่ร้านบัคเก็ตคล้ายกับบ่อน เจ้ามือไม่ชอบคนที่เล่นชนะตลอดอยู่แล้ว เขาจึงถูกกีดกันไม่ให้เล่นหุ้น หรือถ้าเข้าไปเล่นได้ก็จะถูกเอาเปรียบและโกง
- อายุ 20 เคยมีเงินเก็บมากกว่า $10,000 ต่อมามีเล่นเสียหลายครั้ง แต่โดยรวมยังกำไร

เดินทางสู่นิวยอร์ค
- อายุ 21 เดินทางเข้านิวยอร์คพร้อมมีเงินเหลือติดตัวเพียง $2,500 จากนั้นก็ขาดทุนหมดตัว เขาพบว่าวิธีการเทรดของเขาใช้ในร้านบัคเก็ตได้ผลกำไรมากกว่าการเทรดในตลาดหุ้นที่นิวยอร์ค
- อายุ 22 ทำเงินได้ $50,000 แต่ก็ขาดทุนหมดตัวอีกครั้งจากตลาดหุ้นนิวยอร์ค จึงเริ่มรู้สึกตัวและปรับตัวว่าแยกความต่างไม่ออกระหว่างการเก็งกำไรกับการพนันในหุ้น

ยกระดับการเทรด
อายุ 27 เปลี่ยนวิธีการเทรดจากการคิดจะเอากำไรแค่ 1-2 จุดเป็นเล่นตามแนวโน้มใหญ่ ซื้อแล้วถือจนกว่าตลาดจะเปลี่ยนแนวโน้ม เข้าใจการเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวจะเป็นไปในทางเดียวกับแนวโน้มใหญ่ เริ่มศึกษาพื้นฐานและการเหวี่ยงของราคาจากสภาวะตลาดโดยรวม เขามองภาพใหญ่ขึ้นโดยดูทิศทางตลาดมากกว่าการดูหุ้นเป็นรายตัว ถือว่าเป็นการยกระดับการเทรดไปอีกขั้น

ชอร์ตหุ้นจนตลาดพัง
เริ่มมีชื่อเสียงจากการชอร์ตหุ้น ในปี 1907 ตลาดวิกฤติอย่างหนัก เขาทำกำไรได้อย่างมากมายจากการชอร์ตหุ้นในช่วงนี้ จนธนาคารต้องมาขอร้องให้หยุด

กำไรฝ้าย
เริ่มเข้ามาเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะมองว่าระยะยาวแล้วมันจะเกี่ยวข้องกับ อุปสงค์ และอุปทาน เท่านั้น เริ่มต้นด้วยการเทรดฝ้าย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จากระบบการเทรดแบบใหม่ที่เขาคิดขึ้นมาเพื่อทดแทนที่การเล่นแบบการพนัน นั่นคือการซื้อถัวเฉลี่ยขาขึ้น ทุ่มเมื่อถูกทาง และรีบตัดขาดทุนเมื่อรู้ว่าผิดทาง ตอนนี้เขาโด่งดังมากๆ

ขาดทุนเพราะเชื่อเพื่อน
จากนั้นเขาก็ขาดทุนอย่างหนัก เพราะไม่เชื่อในระบบเทรดของตัวเอง ไปหลงเชื่อคารมโน้มน้าวใจจากคนที่เขาชื่นชม ทำให้ทุ่มซื้อฝ้ายอย่างหน้ามืดตามัว แม้จะผิดทางเขาก็ยังดันทุรังซื้อเพื่อพยุงราคา แม้จะได้กำไรจากข้าวสาลี แต่กลับขายออกเพื่อเอาเงินมาซื้อฝ้าย (ในบันทึกบอกว่าตอนนั้นสุขภาพเขาเริ่มแย่อีกด้วย) สุดท้ายยอมขายขาดทุน โดยเหลือเงินอยู่ไม่กี่แสน


หมดตัวอีกครั้งหนำซ้ำเป็นหนี้หลักล้าน
เพราะความที่มีปัญหาสุขภาพ และการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อ ทำให้มันมีผลต่อการเทรดของเขา ที่ทำไปแบบคนร้อนเงิน พอขาดทุนก็รีบเอาคืนเพราะเชื่อว่าในที่สุดตลาดหุ้นต้องทำกำไรให้เขาในท้ายที่สุด ส่งผลให้เขาขาดทุนอย่างต่อเนื่องกระทั่งหมดตัว แถมยังติดหนี้โบรคเกอร์ และเพื่อนอีกเป็นล้านเหรียญ ทำให้เขาหดหู่มาก

ไม่ยอมแพ้
เริ่มกลับมาเทรดใหม่โดยใช้เงินน้อยๆ จากเครดิตของบริษัทเล็กๆที่ยังเชื่อมั่นในชื่อเสียงของเขา เขามีความมุ่งมั่นที่จะทำเงินเพื่อเอาไปคืนเจ้าหนี้ให้ได้

คืนวงการด้วยการเป็นฉากบังหน้า
มีโบรกเกอร์ติดต่อเขาให้เข้าสูวงการอีกครั้ง โดยเสนอเงินให้เขาเทรด $25,000 ฟรีๆ เพื่อให้เป็นฉากบังหน้าการเทรดของคนในบริษัทที่เล่นหนักเหมือนกัน พอได้เงินนั้นไปเทรดเขาก็ทำกำไรได้ในทันทีจนมีเงินคืน เริ่มมีความมั่นใจ แต่ก็ถูกทำลายลงไปอีกเพราะโบรกเกอร์ที่ให้เงินเขาเริ่มมีการจำกัดอิระในการเทรดแถมบังคับให้ซื้อขายหุ้นที่ขัดแย้งกับระบบเทรด เขาเลยตัดสินใจออกไปเทรดที่อื่นแต่ก็ยังขาดทุน ในตอนนี้นี่เองที่เขาหมดกำลังใจในการเทรดเป็นครั้งแรกในชีวิต

ทบทวนตัวเองพบทางสว่่าง
เริ่มกลับมาทบทวนตัวเองอย่างหนัก พบว่าปัญหาไม่ใช่วิธีการอ่านเทป แต่เป็นที่ความกระวนกระวายเกี่ยวกับหนี้ เพราะความที่เขาตั้งมั่นว่า "ต้องผ่านช่วงเวลาหมดตัวนี้ไปให้ได้" เขาเลยไปเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ให้ปลดหนี้ไปก่อน ก็ได้รับการตกลง

เป็นอิสระ
เมื่อเขาเป็นอิสระ ก็กลับไปเริ่มต้นเทรดใหม่ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 500 หุ้นเท่านั้น ซึ่งผลจากการที่เขาเตรียมตัวมาดี มีการศึกษาสภาวะตลาดทั่วไปและพยายามคิดเรื่องของจิตวิทยาของคนอื่นๆ และรู้จักตัวเองให้ดีก่อน เขาได้เรียนรู้ว่าความสำคัญของการอ่านเทปสำคัญเท่าๆกับการอ่านตัวเอง นอกจากจะศึกษาภาวะตลาดแล้ว เขายังมีการวิเคราะห์งบการเงินด้วย

กลับมากำไรอีกครั้ง
และเขาก็กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง จนมีเงินทุนพอที่จะเทรดในระดับที่เหมาะสม เขาพบว่าก่อนหน้านี้เขาถูกรบกวนและเทรดผิดตลอด เพราะถูกเจ้าหนี้คอยรังควาน และขาดแคลนเงินทุน เมื่อไม่มีสิ่งรบกวน เขาก็เทรดได้ชนะตลอดทาง

ใช้หนี้ได้หมดในครั้งเดียว
ปี 1917 เขาสะสมกำไรจนมีเงินเหลือ ให้สามารถจ่ายหนี้คืนได้หมด ซึ่งเป็นการจ่ายคืนทั้งก้อนในครั้งเดียว ส่วนเงินที่เหลือ เขาเริ่มรู้จักเอาไปซื้อพันธบัตร ซื้อกองทุนให้เมียและลูก เพื่อเป็นหลักประกัน ว่าลูกเมียจะปลอดภัยจากเขา

ปั่นหุ้น
การกลับมาชนะตลาดในครั้งนี้ ทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าเดิมอีก จึงมีคนเข้ามาติดต่อให้เขาเป็นคนทำราคาหุ้นให้ และก็ยังมีคนอาศัยชื่อเสียงของเขาเพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงรายย่อยมาซื้อหุ้นอีกด้วย
..................................................................
..................................................................
นิสัยของลิเวอร์มอร์
- ชอบและเก่งคณิตศาสตร์มาก มีความจำดี คิดคำนวนเลขได้เร็วกว่าคนอื่น
- ขี้สงสัย ช่างสังเกตุ สามารถหาความหมายของสิ่งต่างๆได้จากการเฝ้าสังเกตุ
- ชอบจดบันทึก ชอบพิสูจน์ความเชื่อ ว่าแนวคิดมีความแม่นยำเพียงใด สิ่งที่คาดการณ์ไว้ถูกต้องหรือไม่
- มีวิธีคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่สังเกตุ ตั้งทฤษฎี ตั้งสมมุติฐาน พิสูจน์ และสรุป
- ไม่เชื่อใครง่ายๆ ดูข้อมูลที่ตัวเองมีก่อน ค่อยตัดสินใจด้วยตัวเอง
- มีลางสังหรณ์?
- ขาดวินัย หลักการดี ถ้าทำตามแผนจะชนะ 7 ใน 10 ครั้ง แต่เพราะเลือกเทรดตามความพอใจ ไม่ทำตามแผน เลยขาดทุน
- พอผิดพลาดแล้วจะกลับมามองตัวเองก่อน ไม่เคยโต้แย้งกับข้อมูลที่เทปแสดงออกมา(ไม่โทษตลาด)
- ชอบทำอะไรๆ คิดด้วยตัวเอง ลงมือเอง ผิดก็โทษตัวเองก่อน
- คิดบวก มองความล้มเหลวและขาดทุนทุกครั้งเป็นบทเรียน และพยายามไม่ให้ตัวเองผิดซ้ำในแบบเดิมอีก
- ไฝ่รู้ ชอบอ่าน ชื่นชมคนเก่ง ชอบศึกษาวิธีคิดของนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ
- ใจอ่อน มีสำนึกรู้คุณคน ทำให้ขาดทุนเพราะเพื่อนหลายครั้ง
- มีการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาของนักเก็งกำไร
- เชื่อว่าชีวิตคือการเรียนรู้
- ใจสู้ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
..................................................................
..................................................................
เกร็ดและคำคมที่น่าสนใจ
++ การสังเกตุ ประสบการณ์ ความจำ และ ตัวเลข เป็นปัจจัยพื้นฐานที่นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จต้องมี นอกจากนักเก็งกำไรจะต้องสังเกตุให้แม่นยำเพียงอย่างเดียวแต่ต้องจำได้ตลอดเวลาถึงเรื่องที่เขาสังเกตุว่าเห็นอะไรบ้าง เขาไม่ควรเสี่ยงบนความไม่มีเหตุผลและความไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามความมั่นใจส่วนตัวอาจจะเกิดจากความไม่มีเหตุผลต่างๆหรือความไม่มั่นคงที่เขาอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เขาต้องเสี่ยงบนความน่าจะเป็น นั่นคือ การลองวิเคราะห์คาดการณ์ความเป็นไปได้ของมัน เวลาหลายปีแห่งการเรียนรู้และฝึกฝน การศึกษาอย่างสม่ำเสมอ และการจำการเทรดของตัวเองได้จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในการเทรดได้ทันที ถ้ามีเรื่องที่ไม่คาดคิดเข้ามา
++ ผมค้นพบว่าประสบการณ์เป็นเหมือนคนจ่ายเงินปันผลให้เราอย่างสม่ำเสมอในเกมการลงทุน และการสังเกตุก็เป็นการบอกข่าวที่ดีที่สุด พฤติกรรมของหุ้นเป็นสิ่งเดียวที่คุณต้องการ คุณต้องสังเกตุมัน จากนั้นประสบการณ์ก็จะแสดงให้คุณเห็นว่าคุณจะทำกำไรได้ยังไง
++ หน้าที่ของผมคือการเทรดที่ยึดติดกับข้อเท็จจริงมากกว่าไปคิดถึงเรื่องที่คนอื่นๆจะทำยังไงกับมัน
++ ผมมีความสนใจในทุกช่วงการลงทุนของผม และแน่นอนว่าผมเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นๆ เหมือนกับที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง
++ การศึกษาปัจจัยของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อโดยปราศจากเงื่อนไข หรือแม้กระทั่งเรื่องที่พวกเขายอมให้ตัวเองถูกจูงใจโดยความโลภหรือความไม่ใส่ใจคนอื่น ความกลัวและความหวังของคนเรายังคงเหมือนเดิมทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นการศึกษาเรื่องของจิตวิทยานักเก็งกำไรเป็นเรื่องที่มีค่าที่สุด
++ องค์ประกอบสำคัญของการประสบความสำเร็จในการเก็งกำไรมักจะขึ้นกับสมมุติฐานของคนที่จะทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่พวกเขาเคยทำในอดีต
..................................................................
..................................................................
ประวัติส่วนตัวของเจสซี ลิเวอร์มอร์
ลิเวอร์มอร์เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1877 ที่ชูส์เบอรี่ รัฐเมสซาชูเสส พ่อแม่เป็นชาวนาที่ยากจน พ่อเข้มงวดมาก แต่แม่ตามใจ
ตอนเด็กเขาผอมและขี้โรค เขาชอบอ่านหนังสือและจินตนาการ มีโลกส่วนตัว จึงทำให้มีกระบวนคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
ที่โรงเรียนเขาเก่งคณิตศาสตร์มาก คิดเลขเร็วสุดๆตอบได้ไวก่อนใครเพื่อน หรือสามารถใช้วิธีที่แตกต่างเพื่อหาคำตอบได้ด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเคยแข่งแก้โจทย์คณิตสุดซับซ้อนชนะครูมาแล้ว ทำให้เขาถูกยกให้ไปเรียนคณิตในระดับที่ยากกว่าหลักสูตรสำหรับอายุเท่าเขา เขามีสมองที่คำนวนได้ไว จำตัวเลขได้แม่น ถึงกับจัดรูปแบบตัวเลขได้ เรียกว่ามีสมองคอมพิวเตอร์ได้เลย
พออายุ 13 พ่อให้ออกจากโรงเรียนมาเป็นชาวนา แต่แม่ไม่เห็นด้วยจึงให้หนีไปบอสตัน ไปสร้างอนาคตด้วยตัวเอง เขามีการโปรแกรมชีวิตที่ต้องการเอาไว้แล้วว่าไม่ต้องการเป็นแบบพ่อที่ทำงานหนัก แต่ก็ยังจน อยากประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงด้วยการทำงานด้วยสมอง
เขาเลยเลือกไปทำงานเป็นคนบอกราคาหุ้นในโบรคเกอร์แห่งหนึ่ง เขาชอบทุกอย่างเกี่ยวกับงาน มีความฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะสร้างระบบเทรดของตัวเองและเขาจะรวย ดังนั้นในระหว่างงานเขาชอบที่จะไปสอบถามพูดคุยกับโบรคเกอร์ ลูกค้า เพื่อหาข้อมูล เขารู้ว่าคนในออฟฟิสหาเงินจากการเปลี่ยนแปลงของราคา ต่อมาชีวิตเขาก็จะเป็นแบบที่หนังสือบันทึกลับเซียนหุ้น ซึ่งผมจะไม่ขอเขียนซ้ำนะ ลองไปอ่านกันเองนะ

ช่วงปี 1922 ลิเวอร์มอร์ อายุ 45 ปีเขาได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีคิด เทคนิคและประสบการณ์ในตลาดหุ้นกับนักข่าวชื่อ Edwin เพื่อตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ลงคอลัมน์รายสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post และบทความเหล่านั้นเองที่ภายหนังได้ถูกนำมารวมเล่มทำเป็นหนังสือที่โด่งดังชื่อ "Reminiscences of a Stock Operator" ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกลับเซียนหุ้น เล่มที่ผมสรุปนี่แหละครับ

ช่วงปี 1925 -1928 เป็นปีทองของลิเวอร์มอร์ เพราะเขาทำกำไรทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดสินค้าเกษตร ได้กำไรจำนวนมากหลายสิบล้านเหรียญ โดยเฉพาะในปี 1929 เขาทำการชอร์ตเซล หุ้นครั้งใหญ่จากการถล่มของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงวิกฤติการเงิน Great Depression หรือวิฤตฟองสบู่วอลสตรีท ทำให้เขาได้กำไรรอบนั้นมากกว่า 100 ล้านเหรียญ ชีวิตของลิเวอร์มอร์ หลังจากนั้นก็ยิ่งหรูหรา เขามีคฤหาสหลังใหญ่ มีเรือยอร์ช มีทุกสิ่งที่เศรษฐีจะมีได้ แต่ชีวิตเขาก็ใช่ว่าจะมีความสุข เพราะปัญหาจากลูก ที่ติดยาเสพติด ชอบปาร์ตี้ และจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ตัวเขาเองเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิตในชีวิตครอบครัว และส่งผลให้เกิดความเครียด และกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ประกอบกับวัย 56 ปีเขาได้รับการวินิฉัยโรคจากหมอว่าเป็นโรคความจำเสื่อมแบบเฉียบพลัน และมีโอกาสจะเป็นโรคสมองเสื่อม หลังจากนั้นไม่นาน Jesse Livermore ก็ประสบกับปัญหาการขาดทุนจากหุ้นอย่างหนักจนหมดตัว Jesse Livermore ถึงแม้จะขาดทุนอย่างหนักแต่ยังพอมีเงินจากกองทุนและผลตอบแทนจากพันธ์บัตรทำให้เขาสามารถ ใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก แต่ไม่สามารถกลับมาสร้างผลกำไรได้เหมือนเดิม
การฆ่าตัวตาย
วันที่ 28 พฤษจิกายน 1940 ลิเวอร์มอร์ยิงตัวตายในโรงแรม ที่แมนฮัตตัน ตำรวจพบจดหมายลาตายในสมุดบันทึกของเขา ซึ่งต่อมาตำรวจได้เปิดเผยว่าเขาเขียนถึงภรรยา มีใจความว่า “My dear Nina: Can’t help it. Things have been bad with me. I am tired of fighting. Can’t carry on any longer. This is the only way out. I am unworthy of your love. I am a failure. I am truly sorry, but this is the only way out for me. Love Laurie”
เขาเหลือเงินลงทุนและทรัพย์สินเงินสด ณ วันที่เสียชีวิตกว่า 5 ล้านดอลล่าร์ มีการคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากเขาเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงปีสุดท้าของการมีชีวิตของเขา

แถมคลิป "คัดหุ้นสไตล์ Jesse Livermore"


No comments:

Post a Comment